วันนี้ 13 กรกฎาคม 2568 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ลงพื้นที่ จ.ยะลา เปิดกิจกรรม Kick Off การปฏิบัติงานเครื่องจักรกล เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย บริเวณสถานีรถไฟไม้แก่น ตำบลวังพญา อำเภอรามัน พร้อมด้วยนายมูฮัมมัด ศานติภิมุข รองผู้ว่าราชการ จ.ยะลา นายกองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดยะลา จำนวน 16 แห่ง อาทิ นายมุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา หัวหน้าส่วนราชการ และบุคลากรในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สำหรับกิจกรรมนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หลังมีการลงนาม บันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดยะลาและปัตตานี เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 เพื่อร่วมมือด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ซึ่งเป้าหมายการดำเนินงาน มุ่งขุดลอกคลองระบายน้ำในเขตการรถไฟฯ บริเวณสถานีรถไฟยะลา สถานีรถไฟไม้แก่น ระยะทาง 5 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของ เทศบาลนครยะลา เทศบาลเมืองสะเตงนอก อบต.เนินงาม และ อบต.วังพญา เพื่อฟื้นฟูระบบระบายน้ำบริเวณทางเลียบรถไฟ ลดความเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนริมแม่น้ำสายบุรีที่ประสบปัญหาน้ำหลากในฤดูฝน
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ระบุว่า โครงการนี้เริ่มมาจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา จึงมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อมาศึกษาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ท้องถิ่นจึงมีการรวมตัวทำงาน 17 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วันนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการขุดลอกเส้นทางน้ำเดิมที่ไม่เคยมีการขุดลอกมานานนับสิบปี จากสภาพลำคลองจึงเป็นสภาพดินทั้งหมด ทำให้น้ำจากพื้นที่สะเตงนอก ไม่สามารถไหลได้ ก็ทะลักเข้าไปท่วมในพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลา รวมถึงเทศบาลเมืองสะเตงนอก การแก้ไขที่เกิดจากการริเริ่มจากประธานรัฐสภาก็จะเป็นผลมากขึ้นสิ่งที่กำลังทำนี้ก็จะเป็นการประทัง ในฤดูฝนที่จะถึงนี้ แต่การแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะต้องเป็นข้อสรุปของคณะกรรมาธิการที่ทางประธานรัฐสภาได้จัดตั้งขึ้น ที่จะมีการชี้แจงให้พี่น้องประชาชนทราบ
“การขุดลอกคลอง 14 โครงการตามแผนนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ส่วนระยะยาวจะต้องมีการทำคลองบายพาส เพื่อแบ่งน้ำลงสู่แม่น้ำปัตตานี ซึ่งปัจจุบัน แม่น้ำปัตตานีสามารถรองรับน้ำได้อยู่ที่ 950 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที แต่เมื่อปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำเข้ามาถึงประมาณ 1500 จะเห็นได้ว่าในหลายพื้นที่น้ำก็ได้ล้นข้ามตลิ่งแม่น้ำปัตตานี การทำคลองบายพาสก็จะแบ่งน้ำออกไปประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่มีการนำค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 25 ปี มาเป็นฐานของการคิดทั้งหมด ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 8 พันล้าน”
นายพงษ์ศักดิ์ ยังบอกอีกว่า ปีที่แล้ว ฝนตก 3 วัน ประมาณ พันมิลลิเมตร ปีนี้ถ้าเจอน้ำแบบนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่าคงไม่หนักเท่าปีที่แล้ว จากสิ่งที่เราได้ดำเนินการไม่ว่าเรื่องของระบบการเตือนภัยต่างๆ ที่เราได้ทำแพลตฟอร์มแจ้งเตือนก่อน 80 ชม.คงทำให้ประชาชนได้รับทราบสภาพได้มีการเตรียมตัว รวมทั้งการทำเส้นทางเบี่ยงน้ำ ต่างๆที่ได้ทำไปบางส่วนแล้ว”
การปล่อยขบวนเครื่องจักรกลในวันนี้ เป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ศักยภาพของเครื่องจักรกลและหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่ต่อไป